คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

เขาให้มาวัดใจ ไม่ใช่ให้มาใช้ชีวิตเล่นๆ แล้วก็ตกนรกจริงๆ

  • 2024,Apr 29
  • 2663

เพราะเราใช้ชีวิตเล่นๆ นี่แหละ แต่ตกนรกจริงๆ ต้องเกิดตกต่ำจริงๆ การรับโทษที่เมืองมนุษย์นี้เสียอีกยังน้อยนัก ปรโลกเบื้องหน้าหนักกว่า โทษของเมืองมนุษย์ ติดคุกถูกขังเขาก็ยังให้กินข้าว ให้กินน้ำ กลางคืนก็ยังให้นอน มีเวลาพัก จึงว่าน้อยนัก แต่ถ้าเป็นการลงโทษของจักรวาลแล้วล่ะก็ ไม่มีเน้อ ไม่มีเวลาที่จะได้หยุดจากการรับทุกข์ นรกน่ะ มีการตาย ตายก็สบายแล้วไม่ต้องรับทุกข์ต่อ เขาให้ฟื้นอีก ตายครั้งหนึ่งก็ถือว่าหมดไปหนึ่งชาติ ตกนรกแสนชาติ ตายฟื้น ตายฟื้นแสนเที่ยว สาหัสสากรรจ์ ไม่มีการนอนไม่มีการกิน

...

เป็นแดนแห่งการรับทุกข์ ไม่ใช่เป็นแดนเสวยทุกข์ ก็เลยทุกข์ล้วนๆ จึงว่าทุกข์นี่เมืองมนุษย์นี้ยังไม่ล้วนๆ ที่ว่ายากจนไม่มีจะกิน ก็ยังมีให้กินบ้าง ยังได้นอนบ้าง บางครั้งยังให้หยอกลูกหยอกหลาน แต่ถ้าขืนทำชั่วไปตกนรกแล้วล่ะก็ ไม่มีโอกาสล่ะเน้อ ไม่มีลูกไม่มีหลานให้หยอก ระบบของจักรวาลเขาต้องการจะให้เราเข็ด ถ้าเข็ดจริง ลองให้มาเกิดแล้วคอยติดตามดูว่าอย่างไร ลืมอีกแล้ว ลืมทุกข์ที่นรกอีกแล้ว บุญไม่ทำแต่กรรม (ชั่ว) สร้างเอา สร้างเอา กรรมดีไม่ทำ ให้นึกออกนึกง่ายแต่ที่ชั่วๆ ฉลาดก็ฉลาดเฉโกเสีย ไม่ฉลาดที่จะทำดี เอาลงไปซ่อมใหม่ ตกนรกอีกแล้ว จึงเกิดการวัฏ คือ เวียนวน เหตุที่เวียนวนเพราะเอาไปแก้ไขในที่ต่างๆ แต่ถ้าเอามาวัดใจ ก็คือที่มนุษย์ ถ้าเอาไปแก้ไข ก็คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เพื่อจะให้เข็ดหลาบ

...

แต่ถ้าเป็นมนุษย์ ให้มาเพื่อวัดใจเพื่อดูพฤติกรรม เพราะที่เมืองมนุษย์มีทั้งดีทั้งชั่วให้ทำ สี่ภูมิที่ว่านั้น (นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย) ไม่มีดีให้ทำ เป็นไปตามธรรมชาติอย่างเดียว รับกรรมไปอย่างเดียว แต่ที่มนุษย์นี้ ถึงจะชั่วมาผิดมา ถ้าทำดีพ้นได้หมดได้ ดูสิจะทำไหม ก็เลยว่า มนุษย์เป็นภูมิที่วัดตบะ วัดความจริงใจในการแก้ไขกรรมดี กรรมชั่ว จะทำดีให้เลอเลิศถึงนิพพาน จึงเป็นได้ที่เมืองมนุษย์ จะทำชั่วให้ตกนรกก็ที่มนุษย์

...

สมมติ ถ้าเกิดเป็นเดรัจฉาน ทำชั่วมากแล้วตกนรก ไม่มีนะ มันใช้กรรมอย่างเดียว ก็คือจะต้องเป็นเดรัจฉานเท่าไหร่ เมื่อพ้นจำนวนชาติก็จะพ้นขึ้นมา ไม่ได้ตกลงไปอีก แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แล้วทำกรรมชั่ว ลงถึงนรก สอบไม่ผ่าน เอาไปซ่อมใหม่ แต่ถ้าสอบผ่าน ตรงกันข้ามไปเสวยสุข สบายกว่ามนุษย์คือเทวดา มีความขยันที่จะคอยระมัดระวังไม่ทำความชั่วได้อย่างเด็ดขาด นิพพาน ที่สุดเลย คือพ้นจากกฎแห่งกรรมที่จะต้องตกต่ำตกสูง หลุดจากการจองเวรจองกรรมที่เคยกระทำไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นอโหสิกรรม

...

ระบบของจักรวาลตรวจดูแล้วว่าจิตดวงนี้บริสุทธิ์ ไม่หวนกลับไปทำชั่วอีกแน่นอน เขาไม่พลาดตรงนี้เขาไม่พลาด ถ้าไม่หวนกลับ แน่นอนไปนิพพาน ดีใจด้วยนะเธอจบกิจแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องแก้ไขแล้ว ไปเสวยบรมสุข “ปรมัง สุขัง” ไปเสวยสุขที่ยิ่งกว่าสุข จริงๆ เขาไม่มีคำเรียกหรอก ถ้าจะพูดกันจริงๆ ว่านิพพานมีสุขไหม ไม่มี เพราะนิพพานไม่มีทุกข์ ที่สุขทุกข์เรียกเพื่อเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบ ที่ใดมีทุกข์ที่นั่นก็มีสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นต้องมีทุกข์ แล้วที่ๆ ไม่มีทุกข์เลย จะเรียกว่าที่นั่นมีสุขก็ไม่ใช่ เขาบอกมันยิ่งกว่า แต่ไม่มีศัพท์บัญญัติใช้ เขาจึงเติมคำว่ายิ่งเข้าไป ภาษาไทย คือ คำว่า “บรม” ภาษาบาลี คือคำว่า “ปรมัง” มันยิ่งกว่าสุข

...

สุขที่เมืองมนุษย์เป็นอย่างไร มันยิ่งกว่า สุขเหมือนกับการที่เรานอนเต็มอิ่มไหม โอ้ แค่นอนเต็มอิ่มอย่าเอาไปเปรียบเทียบเลย มันสุขได้เหมือนที่เราเจอสิ่งที่ถูกอกถูกใจ ได้อยู่ใกล้คนรัก ได้เจอกับคนที่พลัดพรากจากกันไปนานๆ พอเจอกันก็เลยดีอกดีใจ ขนาดนั้นไหม โอ้ยิ่งกว่า อย่าเอามาเทียบเลย มันหาใดๆ เทียบไม่ได้ อันว่าสภาวะสุขของเมืองมนุษย์นี่ มันเทียบไม่ได้กับความสุขชนิดที่เรียกว่า “อมตะธรรม” มันก็เลยไม่มีคำบรรยาย สุดปริยาย สุดที่จะบรรยาย สุดที่จะอธิบาย มันมีสภาวะเช่นนั้นอยู่
...

ถ้าเราละจากการทำชั่วโดยเด็ดขาดสิ้นเชิงได้แล้ว เราก็จะไกลจากเครื่องขุ่นมัว เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย (กิเลส) ที่นั่นไม่มีเครื่องขุ่นมัว ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง ปราศจากกิเลส สภาวะเช่นนั้น เราสามารถจะทำให้ถึงได้ ด้วยภูมิของการเป็นมนุษย์นี้ อยู่กับเรานี้ จะทำหรือไม่ทำ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ตรงนี้แหละ

บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒